วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

โลกอนาคต : พลังงาน

คราวนี้มาดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกของเราใบนี้บ้าง  เป็นบทความเชิงวิชาการที่มีผู้เขียนไว้บ้างครับ ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพคำพยากรณ์ต่างๆในพระคัมภีร์เป็นจริงมากขึ้น  ลองคิดดูเรื่องพลังงานว่า ถ้าปี 2020 ไม่มีพลังงานจากฟอสซิลมาใช้ คนในโลกจะหันไปใช้พลังงานจากอะไรบ้าง น้ำมันชีวภาพหรือ พลังงานแสงอาทิตย์หรือ  พลังงานลมหรือ พลังงานจากมูลสัตว์หรือ พลังงานจากใบไม้หรือ ฯลฯ  ดังนั้น เราควรจะเห็นคุณค่าของพลังงาน ใช้พลังงานอย่างประหยัด เท่าที่จำเป็น  นอกจากนั้นแล้วเราคงต้องเตรียมใจไว้สำหรับใช้พลังงานทางเลือกใหม่ๆในอนาคต


กลับมาเรื่องพลังงานจากฟอสซิล คือน้ำมัน เมื่อน้ำมันค่อยๆหมดไปจากโลกภายในสิบปีนี้หรือว่าถึงจุดที่ไม่คุ้มทุนแล้ว เขาจะเอาพลังงานจากสิ่งใดมาแทน  ผมคิดว่าพลังงานชีวภาพจะเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุดที่เทคโนโลยีในปัจจุบันทำได้และคุ้มทุน เมื่อถึงตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้น  น้ำมันชีวภาพทำมาจากพืชผลทางการเกษตรที่เราเอามาใช้ทำเป็นส่วนประกอบของอาหาร  อาหารในโลกนี้จะขาดแคลนมากขึ้นเพราะส่วนหนึ่งเอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงจากชีวภาพ


Mark 13:8 เพราะประชาชาติ​ต่อ​ประชาชาติ ราช​อาณาจักร​ต่อ​ราช​อาณาจักร​จะ​ต่อสู้​กัน  ทั้ง​จะ​เกิด​แผ่น​ดิน​ไหว​ใน​ที่​ต่างๆ และ​จะ​เกิด​กันดาร​อาหาร เหตุการณ์​ทั้ง​ปวง​นี้​เป็น​ขั้น​แรก​แห่ง​ความ​ทุกข์​ลำบาก



ดูบทความจากในเว็บครับ  เมื่อการผลิตน้ำมันของโลกถึงจุดสูงสุด   และ  เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานอนาคตที่เปลี่ยนแผ่นดิน






เมื่อการผลิตน้ำมันของโลกถึงจุดสูงสุด (Peak Oil)

เมื่อการผลิตน้ำมันของโลกถึงจุดสูงสุด (Peak Oil)
ประกอบ คุปรัตน์Pracob Cooparat
E-mail: pracob@sb4af.org
ความหมาย
Peak Oil คือจุดที่เวลาการผลิตน้ำมันที่ผลิตจากปิโตรเลียม (petroleumextractionได้มาถึงที่สุด และหลังจากนั้นไม่ว่าจะใช้ความพยายามเท่าใด ปริมาณน้ำมันที่ได้จากการสำรวจขุดเจาะ ก็จะลดลง แนวคิดนี้มาจากการสังเกตปริมาณน้ำมันของแต่ละบ่อที่ขุดเจาะ และเมื่อรวมถึงผลผลิตน้ำมันโดยรวม และเมื่อถึงจุดที่สามารถผลิตน้ำมันที่ได้จากแหล่งปิโตรเลียมสูงสุดแล้ว หลังจากนั้น ปริมาณน้ำมันที่สำรวจขุดเจาะได้จากธรรมชาติจะลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะในขณะเดียวกัน ความต้องการใช้พลังงานก็จะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น เข้าลักษณะอุปสงค์สูงกว่าอุปทาน แต่คำว่า Peak Oil แตกต่างจากคำว่า จุดที่ไม่มีน้ำมันเหลืออยู่
ภาพ กราฟแสดงปริมาณน้ำมันที่ผลิตได้จะสูงสุดในราวช่วงปี ค.ศ. 2010-2020 และหลังจากนั้น จะลดลงอย่างรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับการต้องพึ่่งพลังงานจาก Fossil จะมากหรือน้อยเพียงใด
M. King Hubbert ได้เป็นผู้เสนอรูปแบบ peak oil เป็นคนแรกเมื่อปี ค.ศ.1956 ว่าจะมาถึงในช่วงปี ค.ศ. 1965-1970 และจะทำให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นอย่างมากทั่วโลก และจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ คำทำนายของเขาถูกเพียงส่วนหนึ่ง และมันทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันจริง ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มนุษย์ได้มีการปรับตัวตามไปในหลายๆด้าน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น ฝ่ายสำรวจขุดเจาะก็มีความคุ้มที่จะขุดเจาะในบริเวณที่ไม่เคยทำมาก่อนดังเช่นในด้านทะเลชายฝั่ง ในบางด้านได้เกิดการพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือก ดังเช่นประเทศญี่ปุ่นและฝรั่งเศสได้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ไฟฟ้าที่พัฒนาจากแหล่งอื่นๆนอกเหนือจากน้ำมันได้ และในอีกด้านหนึ่งในประเทศในยุโรปก็ได้เริ่มการเก็บภาษีน้ำมันสูง เพื่อสะกัดกั้นการใช้พลังงานน้ำมันที่เกินความจำเป็น
ในช่วงต่อมาได้มีทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้ทำนายPeak Oil เอาไว้ว่าน่าจะเป็นช่วงปี ค.ศ. 2020 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าราคาน้ำมันจะสูงจนกระทั่งต้องเลิกคิดถึงน้ำมันที่ผลิตจากแหล่งสำรวจขุดเจาะ (Petroleum)
จากการคาดการณ์อย่างเป็นทางบวก (Optimistic estimations) จุดการผลิตน้ำมันสูงสุดจะมาถึงในปีค.ศ. 2020 หรือประมาณอีกเพียง 10 ปี และช่วงเวลาดังกล่าวนี้ จะต้องมีการลงทุนพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆก่อนที่จะเกิดวิกฤติจริง และในการนี้ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาการบริโภคน้ำมันอย่างมากๆ ดังเช่นวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ส่วนตัวอย่างเกินความจำเป็น การไม่ได้คิดถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางเลือกต่างๆ ที่จะทำให้การใช้ชีวิตและวิธีการทำงานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. นี้เป็นต้นไป มนุษย์จะต้องเตรียมที่จะรองรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะสูงขึ้น การฉุดให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตากพืช (Bio fuel) อย่างเช่น Gasohol, biodiesel ที่มีทางเลือกในการผลิตได้จากวัสดุของทิ้ง หรือจากพืชที่มีผลิตผลสูงที่จะนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงแบบต่างๆได้
ในยุคน้ำมันขาดแคลน และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต้องสูงขึ้นนี้ กลไกธรรมชาติของประชาชนคนไทย คือการปรับการผลิตพืชเพื่อการส่งออกที่มีผลกำไรต่ำ มาสู่การผลิตพืชที่สามารถใช้เป็นพลังงานที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ในช่วงนับแต่นี้ต่อไป ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะขึ้นถึงลิตรละ 50-60 บาท ก็จะได้เห็นในไม่ช้า ผลกระทบต่อประเทศไทยอาจเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศที่ต้องพึ่งพาพลังงานทั้งหมดจากต่างประเทศ
ภาพ ในระยะเริ่มต้น ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 แหล่งน้ำมันจะอยู่บนพื้นดิน และพบได้ในแหล่งที่ไม่ลึกจากผิวโลก ดังที่พบในรัฐอย่างเทกซัส โอคลาโฮมา แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (USA) หรือที่พบในตะวันออกกลาง (Middle East) ดังในยุคแรก จะมีการใช้น้ำมันกันอย่างลืมว่า แหล่งน้ำมันและพลังงานจากซากพืชและสัตว์ (Fossil Fuel) นั้นจะมีต้องมีจุดสิ้นสุดที่พลังงาน Fossil Fuel จะหมดไปจากโลก
ภาพ การสำรวจขุดเจาะเมื่อน้ำมันหายากขึ้น แต่ราคาสูงขึ้น ก็ทำให้มีการสำรวจไกลออกไปจากชายฝั่งทะเล ต้นทุนการสำรวจขุดเจาะก็สูงขึ้นไปตามความลึกของแหล่งน้ำมัน
ภาพ เมื่อแหล่งน้ำมันอยู่ไกลชายฝั่งออกไป พื้นผิวทะเลที่จะรองรับแหล่งขุดเจาะ ระดับความรุนแรงของดินฟ้า อากาศ ก็จะทำให้การสร้างแหล่งหรือฐานสำรวจขุดเจาะและสูบน้ำมันเพื่อนำมาใช้ก็มีความเสี่ยง ขาดทุนเสียหาย และเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ที่ต้องไปอยู่ในแหล่งที่เสี่ยงต่อความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ
ปัญหาโลกร้อน
อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกันโดยตรง แต่ควรต้องคิดร่วมกันไป คือปัญหาโลกร้อน (Global Warming)
ภาพ กราฟแสดงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1950 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นยุคที่มีการใช้รถยนต์ (Automobile Culture)
ปัญหาโลกร้อน หรือ Global warming เป็นปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ย (average temperature) ที่ผิวโลกได้เพิ่มขึ้น 0.74 ± 0.18 °C ในช่วงเริ่มต้นจนถึงเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 หน่วยงานคณะกรรมการศึกษาสภาพอากาศของโลก (Intergovernmental Panel on Climate Change - IPCC) ได้สรุปรว่าปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ ก๊าซเรือนกระจก(greenhouse gasesที่ได้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่20 อันเป็นผลจากการที่มนุษย์ (human activity) ได้มีการใช้เชื้อเพลิงจากสิ่งที่เป็นคาร์บอนด์ดังเช่นพวกผลิตผลจากถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ (fossil fuel) และมีการแผ้วทางป่า (deforestation) อีกส่วนหนึ่งที่อาจทำให้โลกเย็นลง คือการสะท้อนแสงอาทิตย์ (solar radiationและผลจากการระเบิดและปล่อยฝุ่น ควัน และก๊าซ (volcanism) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่อาจทำให้โลกเย็นลงบ้าง แนวสรุปนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมนักวิทยาศาสตร์กว่า 40 คนทั่วโลก ซึ่งรวมถึง national academies of science และประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว (major industrialized countriesก็ให้การยอมรับสภาพปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น และได้พยายามหาข้อสรุปในการแก้ไข
การแก้ไข
ทางออกในการแก้ปัญหาน้ำมันหมดโลก และปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่สามารถคิดไปพร้อมๆกัน และแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบร่วมกัน
คนไทยต้องเตรียมพัฒนาพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ระบบการขนส่งทางเลือก (Alternative Transportation) ที่ไม่ไปสร้างปัญหาโลกร้อนเพิ่มขึ้น และขณะเดียวกัน ต้องมองหนทางในการปรับแก้วิถีชีวิต และการวางระบบที่ทำให้เราพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียมลดลง
1. การพัฒนาพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ที่ไม่ต้องพึ่งถ่านหิน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ที่มาจาก Fossil Fuel ที่ต้องได้มาจากแหล่งที่ไม่สามารถพัฒนาทดแทนได้ (Non-renewable resources) ดังเช่น การต้องพัฒนาพลังงานจากลม (Wind Turbine), พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์, การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์(Nuclear Power Plants)
2. การมีระบบรถไฟความเร็วสูง (High Speed Trains) ซึ่งหมายถึงรถไฟที่วิ่งได้ด้วยความเร็วเฉลี่ยเกิน 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบัน เรามีระบบรถไฟที่วิ่งได้ช้ากว่ารถโดยสาร และเพราะหลายเส้นทางยังเป็นเส้นทางวิ่งเดี่ยว ต้องสลับกันวิ่งไปและวิ่งมา จึงทำให้ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การจะแก้ไขปัญหานี้ ต้องมีการพัฒนาระบบใหม่เกือบจะทั้งหมด เพราะระบบรางเดิมที่พัฒนาขึ้นในช่วงกว่าร้อยปีแล้วนั้น ไม่สามารถรองรับมาตรฐานความเร็วของรถไฟควาเร็วสูงใหม่ๆได้
3. การขยายรถระบบวิ่งบนรางความเร็วสุงที่ใช้ในเมือง (Rapid Rail Transit System) ดังเช่นรถไฟฟ้าวิ่งบนทางยกระดับ อย่าง BTS และระบบรถใต้ดินในเมือง ที่ต้องขยายตัวให้กว้างขวางพอ แม้จะไม่ต้องเทียบกับเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค (New York City – NYC) ในสหรัฐอเมริกา, ระบบ Underground ของกรุงลอนดอน (London, UK), ระบบรถ Metro ของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Paris, France)
4. การขนส่งระหว่างเมืองที่พึ่งพารถโดยสาร (Traditional Bus System) ทั้งในเมืองและระหว่างเมือง ที่ต้องประสานสอดรับกับระบบรางที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เพราะระบบรถโดยสาร จะยังเป็นสิ่งที่ใช้ได้ดีมีประสิทธิภาพกว่ารถยนต์ส่วนตัว (Cars)
5. การให้มีระบบรถรับจ้างดัง Taxi หรือ Tuk Tuk ก็จะยังเป็นระบบที่ต้องมีรองรับ แต่อาจต้องถึงจุดที่ต้องควบคุมปริมาณจำนวนรถ แต่รถที่ต้องควบคุมในเขตเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครนั้น คือการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัว พร้อมไปกับมีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกกว่า และมีค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกกว่า
การทำให้แต่ละบ้านมีและต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว (Personal Cars, vehicles)นับเป็นหนทางสุดท้ายที่มนุษย์ควรต้องพึ่งพา โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้พลังงานในแบบเดิมที่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูง ที่ต้องใช้เพื่อการเผาไหม้ให้เกิดเป็นพลังงาน และขณะเดียวกันสร้างปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน







เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานอนาคตที่เปลี่ยนแผ่นดิน
            การเดินหน้าแสวงหาพลังงานทางเลือกจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่ผ่านมา คือสิ่งที่จะเปลี่ยนระบบวิถีชีวิต สังคมโลกทั้งหมด แนวคิดในการใช้พลังงานจะต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นทางออกในอนาคต อะไรคือพลังงานทดแทน อะไรคือพลังงานที่จะตอบสนองให้กับการใช้พลังงานมหาศาลเช่นนี้
            ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณน้ำมันโลกลดน้อยลงเรื่อยๆ คาดการณ์กันว่า ปี 2020 นั้นน้ำมันโลกถึงจุดวิกฤต ในขณะที่แผนงานพลังงานทางเลือกนั้นยังไม่อาจตอบสนองความต้องมากที่มหาศาลได้
วันนี้พื้นที่เกษตรกรรมถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน นั่นหมายความว่า การปลูกพืชเพื่อการบริโภคจะลดลง ผืนแผ่นดินที่หลากหลายทางพันธุ์พืชจะหายไปจากการบุกรุกแผ่นดิน ไม่เพียงเท่านั้นแหล่งพลังงานทั้งหมดบนโลกนี้จะถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซ ถ่านหิน จากราคาทีถูกในวันนี้จะกลายเป็นราคาที่แพงขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงการศึกษาวิจัยในการที่นำเอาพลังงานความร้อนจากใต้พิภพก็เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าแหล่งพลังงานความร้อนนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เทียบเท่าโรงงานไฟฟ้าถ่านหินทีเดียว
            หากมองผ่านแหล่งพลังงานทางเลือกเหล่านี้ เราจะเห็นว่า ไม่มีหนทางไหนอีกแล้วนอกจากพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ และอะไรก็ตามที่สามารถแปรรูปมาเป็นพลังงานได้จะถูกนำมาใช้ พร้อมๆไปกับการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานในอนาคตเช่นกัน หากนับเวลาคงมีเวลาไม่มากสำหรับการเผชิญหน้ากับปัญหาพลังงานในอนาคตนี้

ธนาคารโลก สหประชาชาติ รวมทั้งบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ อ้างว่า เชื้อเพลิงที่ผลิตจากพืชเช่น ข้าวโพด อ้อย ถั่วเหลือง และพืชน้ำมันอื่นๆและเป็นการปรับเปลี่ยนสู่ยุคพลังงานทางเลือก
ที่ผ่านมา ประเทศอุตสาหกรรมประกาศความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพตั้งเป้าไว้ว่า จะมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจำนวน 5.75เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพลังงานที่ใช้ในการคมนาคมขนส่งทั้งหมดของสหภาพยุโรป ให้ได้ในปี ค.ศ. 2010 และเพิ่มเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นปริมาณไม่ต่ำกว่า 35 พันล้านแกลลอนต่อปี
หากเป้าหมายปริมาณความต้องการเหล่านี้เป็นปริมาณที่เกินศักยภาพของฐานการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ประเทศเหล่านี้จะผลิตได้ และถ้าจะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ให้ได้ ยุโรปทั้งทวีปต้องสละพื้นที่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดมาปลูกพืชที่ให้พลังงาน หรือสหรัฐอเมริกาอาจจะต้องนำข้าวโพดและถั่วเหลืองที่ปลูกอยู่ทั้งหมดมาแปรรูปเป็นไบโอดีเซล ซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่การผลิตจากการผลิตพืชอาหารมาปลูกพืชที่ให้พลังงานจริงๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบอาหารในประเทศโลกเหนือ ซึ่งทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้ต้องเสาะแสวงหาพื้นที่ทำการผลิตพืชที่ให้พลังงานในโลกใต้ เพื่อที่จะได้บรรลุความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
การรวมศูนย์อำนาจและการผูกขาดอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพมีสูงขึ้น และมีความรวดเร็วมาก เพียงแค่ระยะเวลา 3 ปี การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มสูงขึ้นกว่า 800 เปอร์เซ็นต์ บริษัทน้ำมัน ธัญพืช รวมทั้งบริษัทรถยนต์และพันธุวิศวกรรมกำลังประสานความร่วมมือและผนวกรวมกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาวิจัย การผลิต การแปรรูปและการกระจายผลผลิตของธุรกิจอาหารและน้ำมันให้อยู่ภายใต้หมวกของกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อทันสถานการณ์พลังงานวิกฤตที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกันพลังงานทางเลือกของสังคมโลกก็นำไปสู่หัวข้อการถกเถียงอีกมากมายในเวทีระดับโลก ระดับประเทศ และในระดับท้องถิ่น เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นทางออกที่ใครได้ประโยชน์ และนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง
เชื้อเพลิงชีวภาพกับสิ่งแวดล้อม???
กระบวนการผลิตและที่มาของเชื้อเพลิงชีวภาพ ตั้งแต่การปรับผืนดิน จนถึงการแปรรูป เราจะพบว่า กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพทำให้เกิดการรุกพื้นที่ป่า ทำให้พื้นที่ป่าลดลง เกิดการเผาป่าและพื้นที่เพื่อปลูกพืชเชื้อเพลิง และยังทำให้เกิดการทำลายหน้าดินเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ น้ำมันปาล์มทุกๆหนึ่งตันทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซด์ 33 ตัน สูงกว่าน้ำมันปิโตรเลี่ยมถึง 10 เท่า การตัดไม้ในเขตป่าเขตร้อนเพื่อปลูกอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับผลิตเอธานอล ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกถึง 50 เท่าเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันในปริมาณที่เท่ากัน

เชื้อเพลิงชีวภาพกับการลดลงของป่าไม้ ???
การปลูกพืชที่ให้น้ำมันและนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเสื่อมของระบบนิเวศ แต่จะเป็นการช่วยฟื้นฟูมากกว่า บางทีนี่อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลบราซิลเชื่อ ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ดำเนินการจัดประเภทการใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยประกาศพื้นที่เพาะปลูกเพิ่ม 200 ล้านเฮคตาร์ ในพื้นที่ป่าเขตร้อนแห้งแล้ง ในความเป็นจริง พื้นที่ที่เรียกว่า เซอราโดและแพนทานอลเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศและหลากหลายทางชีวภาพที่เรียกว่า ป่าแอตแลนติก และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมือง เกษตรกรรายย่อยและคนเลี้ยงสัตว์แบบเร่ร่อน ดังนั้นการประกาศเพิ่มพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชที่นำมาทำเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอ้อยซึ่งมีปลูกอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก จึงเท่ากับเป็นการเบียดขับคนชายขอบเหล่านี้ให้ต้องอพยพลึกเข้าไปในเขตชายขอบติดต่อกับป่าอเมซอนมากยิ่งขึ้น
ในบราซิล มีการใช้ถั่วเหลืองปริมาณ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งองค์การนาซ่าออกมาระบุว่า ราคาของถั่วเหลืองมีความสัมพันธุ์กับการลดลงของพื้นที่ป่าอเมซอนในราว 325,000 เฮกตาร์ต่อปี

เชื้อเพลิงชีวภาพจะนำมาซึ่งการพัฒนาชนบท???
ในเขตร้อน พื้นที่ทุกๆ 100 เฮกตาร์เป็นพื้นที่ที่สร้างงานได้มากกว่า 35 อาชีพ ขณะที่ปาล์มน้ำมันและอ้อย สร้างงานได้เพียง 10 อาชีพ ยูคาลิปตัสอาชีพ และทั้งหมดเป็นการจ้างงานในราคาที่ต่ำมาก
ในอดีต ตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้มีขนาดเล็กและส่วนแบ่งตลาดจำกัดอยู่แต่ในท้องถิ่น ในสหรัฐอเมริกา เจ้าของปั๊มแก๊สเอธานอลส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือเกษตรกร แต่ด้วยกระแสความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาดำเนินการและสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่มหึมาในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้
ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต การบริการ การแปรรูปและการตลาดซึ่งควบคุมโดยบรรษัทข้ามชาติ ขณะที่ผลกำไรตอบแทนมีน้อยมาก และมีแนวโน้มว่าผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้จะถูกเบียดตกจากขอบเวที ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ ผู้ผลิตเป็นหมื่นๆรายต้องตกงานและถูกแทนที่ด้วยอาณาจักรถั่วเหลือง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การผลิต 50 ล้านเฮกตาร์ในพื้นที่ทางใต้ของบราซิล อาเจนตินาตอนเหนือ ปารากวัยและโบลิเวีย
เชื้อเพลิงชีวภาพกับประเด็นภาวะหิวโหยและการขาดแคลนอาหาร???
ความหิวโหยไม่ได้เกิดขึ้นจากการขาดแคลนอาหารและความยากจน คนยากคนจนส่วนใหญ่ใช้เงิน 50 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ไปกับค่าอาหาร และคนจนจะเดือดร้อนมากขึ้นเมื่อน้ำมันมีราคาแพง ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย และการที่พืชอาหารและพืชเชื้อเพลิงต้องแข่งขันกันทั้งด้านที่ดินเพื่อการปลูกและการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทำให้ราคาที่ดินและน้ำเพื่อการผลิตมีราคาสูงขึ้นเพิ่มขึ้นไปอีก
สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ คาดการณ์ว่าราคาอาหารจะเพิ่มสูงขึ้น 20 ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2010 และเพิ่มขึ้น 26-135เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2020 การบริโภคแคลอรี่ลดลงเมื่อราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นที่อัตรา 1: 2
นอกจากนี้ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพก็ควรจะมีการจำกัดขนาดและการเติบโต อย่างเช่นประเทศในโลกเหนือไม่ควรผลักภาระการบริโภคแบบไร้ขีดจำกัดไปให้กับประเทศในโลกใต้ ด้วยเหตุผลที่เพียงว่า ประเทศในโลกใต้ที่มีภูมิอากาศแบบร้อน มีแสงแดด ฝนและที่ดินที่เหมาะสม และถ้าจะทำให้ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพมีความเป็นมิตรต่อพืชอาหารและป่าไม้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดกฏระเบียบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้
ไม่เพียงเท่านั้นมาตรฐานที่เข้มแข็งและปฏิบัติได้จริงในการจำกัดพื้นที่การปลูกพืชสำหรับทำเชื้อเพลิงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงมีกฏหมายที่ป้องกันมิให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาครอบงำธุรกิจด้านพลังงานโดยไร้ขอบเขต
กฏหมายและข้อตกลงสากลในการจำกัดการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืน ในการที่จะปรับเปลี่ยนสู่แนวทางเลือกที่จะต้องปกป้องอธิปไตยทางอาหารและอธิปไตยทางด้านเชื้อเพลิงโดยรวมของประชาคมโลก
ขณะเดียวกันการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพนั้นเชื่อมโยงเกี่ยวข้องไปทั่วโลก เมื่อโลกเป็นหนึ่งเดียวมีการบริโภคอย่างเดียวกัน ต่างกันเพียงมากหรือน้อย แต่ปัญหาของพลังงานนั้นย่อมกระทบเสมือนห่วงโซ่อาหารที่ส่งต่อถึงกัน เพียงแต่ว่าประเด็นปัญหานั้นถูกนำมาแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา กับใคร ที่ไหนอย่างไร

หมายเหตุ : 
ไบโอดีเซล เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงดีเซลจากน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่ากระบวนการทรานเอสเทอริฟิเคชัน(Transesterification Process) โดยให้น้ำมันพืชทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ เช่น เมทานอล หรือเอทานอล และมีด่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
ไบโอดีเซล คือเอสเทอร์ของกรดไขมัน เรียกว่า Fatty Acid Methyl Ester
การเรียกชื่อ ขึ้นกับชนิดของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา เช่น เมทิลเอสเทอร์ เป็นเอสาเทอร์ที่ได้จากการใช้เมทานอลเป็นสารในการทำปฏิกิริยา หรือ เอทิลเอสเทอร์ เป็นเอสาเทอร์ที่ได้จากการใช้เอทานอล เป็นสารในการทำปฏิกิริยา เป็นต้น
ที่มา www.wikipedia.org
ป่าแอตแลนติก เป็นป่าเขตร้อนที่มีพื้นที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศบราซิล เป็นป่าที่มีพืชพรรณมากกว่า 20,000 ชนิดและกว่า 40 เปอร์เซ็นต์เป็นพืชท้องถิ่น.
บทความโดย นุศจี ทวีวงศ์
ข้อมูลจาก Priced Out of the Market จากNew York Times 





พบกันใหม่ในครั้งต่อไปครับ จะเป็นเรื่อง "น้ำ" ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น