ขณะที่จำนวนประชากรโลก กำลังถึงหมุดหมายสำคัญที่เจ็ดพันล้านคนในปีนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องใคร่ครวญกันอย่างจริงจัง อีกหลายสิบปีข้างหน้า แม้อัตราการเกิดจะลดลง แต่ประชากรยังจะคงเพิ่มขึ้นต่อไป และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน หากคนหลายพันล้านคนเหล่านั้นต้องการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากความยากจนและดำเนินรอยตามคนในประเทศร่ำรวยแล้ว พวกเขาคงไม่พ้นต้องเค้นเอาทรัพยากรของโลกมาใช้อย่างหนักหน่วงเช่นกัน แม้อัตราการเพิ่มของประชากรจะเริ่มชะลอตัวลง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่ง เพราะนอกจากคนเราจะอายุยืนขึ้นแล้ว ขณะนี้ทั่วโลกยังมีสตรีวัยเจริญพันธุ์อยู่มากถึง 1,800 ล้านคน ซึ่งนั่นจะทำให้ประชาชากรโลกเพิ่มขึ้นต่อไปอีกอย่างน้อยสองถึงสามทศวรรษ แม้ว่าผู้หญิงทุกวันนี้จะมีลูกน้อยกว่าผู้หญิงในช่วงอายุคนก่อนก็ตาม เมื่อถึงปี 2050 โลกอาจมีประชากรถึง 10,500 ล้านคน หรืออาจหยุดอยู่ที่ 8,000 ล้านคน หากผู้หญิงแต่ละคนมีบุตรเพียงคนเดียว ขณะที่นักประชากรศาสตร์ของสหประชาชาติมองว่า การประเมินแนวโน้มแบบเดินสายกลางน่าจะเหมาะสมกว่า พวกเขาคาดว่าเมื่อถึงปี 2045 โลกน่าจะมีประชากร 9,000 ล้านคน ด้วยอัตราการเพิ่มของประชากรราว 80 ล้านคนต่อปีอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก ที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความวิตก ขณะนี้ระดับน้ำใต้ดินทั่วโลกกำลังลดลง หน้าดินถูกกัดเซาะ ธารน้ำแข็งละลาย และปลากำลังหมดไป ทุกวันที่ผ่านไปผู้คนเกือบ 1,000 ล้านคนต้องหิวโหย และในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า โลกต้องเลี้ยงปากท้องผู้คนเพิ่มอีก 2,000 ล้านชีวิต โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศยากจน เช่นนี้แล้วโลกจะเป็นอย่างไร เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสืบเนื่องมาจากความเจริญทางการแพทย์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศกำลังพัฒนาได้รับการถ่ายทอดวิทยาการด้านการป้องกันโรค ด้วยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ ทั้งยาปฏิชีวนะ วัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ดีดีที (แม้ภายหลังจะเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง แต่ก็ช่วยชีวิตผู้คนจากโรคมาลาเรียได้หลายล้านคน) ล้วนมาถึงในคราเดียวกัน ในอินเดียอายุขัยเฉลี่ยของคนเพิ่มจาก 38 ปีเมื่อปี 1952 เป็น 64 ปีในปัจจุบัน ส่วนในจีนเพิ่มจาก 41 ปีเป็น 73 ปี ประชากรหลายล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจจบชีวิตลงตั้งแต่ยังเด็กกลับมีชีวิตยืนยาวจนมีบุตรของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ประชากรจึงเพิ่มขึ้นอย่างทบทวีทั่วโลก เพราะมีชีวิตมากมายเหลือเกินที่รอดพ้นจากเงื้อมมือมัจจุราช อีกทั้งยังเป็นเพราะช่วงหนึ่งสตรีให้กำเนิดบุตรมาก ในยุโรปสมัยศตวรรษที่สิบแปด และต้นศตวรรษที่ยี่สิบในเอเชีย เฉลี่ยแล้วผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกหกคน ซึ่งเท่ากับเป็นการทดแทนชีวิตของพ่อแม่ เพราะเด็กส่วนใหญ่เหล่านี้มักอยู่ไม่ถึงวัยผู้ใหญ่ เมื่ออัตราการเสียชีวิตของเด็กลดลง ในที่สุดพ่อแม่จึงมีลูกกันน้อยลง แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วอายุคน ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว การมีบุตรเฉลี่ย 2.1 คน ต่อสตรีหนึ่งคนจะทำให้จำนวนประชากรอยู่ในระดับคงที่ แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว อัตรา “ภาวะเจริญพันธุ์ทดแทน”(replacement fertility) จะสูงกว่า ในระยะของการปรับให้เกิดสมดุลใหม่ระหว่างอัตราการเกิดกับอัตราการตายนี้เองเป็นช่วงที่ประชากรจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว นักประชากรศาสตร์เรียกวิวัฒนาการนี้ว่า ช่วงการเปลี่ยนสภาพทางประชากร (demographic transition) ซึ่งแต่ละประเทศจะมีเวลาช่วงนี้แตกต่างกันออกไป แต่ผลข้างเคียงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ถึงขนาดที่บางคนเกรงว่าอารยธรรมของเราอาจล่มสลายลง กระนั้น อัตราการเพิ่มของประชากรก็ดูเหมือนจะถึงจุดสูงสุดแล้ว ครั้นล่วงถึงต้นทศวรรษ 1970 อัตราการเกิดทั่วโลกเริ่มลดลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด และนับจากนั้นเป็นต้นมา อัตราการเพิ่มของประชากรก็ลดลงมากกว่าร้อยละ 40 การลดลงนี้เกิดขึ้นไม่พร้อมกันในแต่ละประเทศทั่วโลก ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ตอนต้นศตวรรษที่สิบแปด สตรีสูงศักดิ์ในราชสำนักฝรั่งเศสรู้จักวิธีหาความสุขโดยไม่ต้องมีลูกเกินสองคน พวกเธอใช้วิธีที่เรียกกันว่า การหลั่งภายนอก (coistus interruptus) ต่อมาวิธีนี้จึงแพร่หลายไปสู่สามัญชนและคนทั่วไปในปลายศตวรรษที่สิบแปด เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่สิบเก้า อัตราการเกิดในฝรั่งเศสลดลงเหลือบุตรสามคนต่อสตรีหนึ่งคนโดยไม่ต้องพึ่งวิธีคุมกำเนิด ในที่สุดประเทศอื่นๆในซีกโลกตะวันตกก็ดำเนินรอยตามฝรั่งเศส เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเปิดฉากขึ้น อัตราการเกิดในหลายพื้นที่ของยุโรปและสหรัฐฯลดลงจนใกล้ระดับทดแทน แต่แล้วก็กลับเพิ่มขึ้นอีกอย่างน่าแปลกใจในยุคที่เรียกกันว่า เบบี้บูม (baby boom) ก่อนจะดิ่งลงอีกครั้ง ความเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมานี้สร้างความงงงวยให้นักประชากรศาสตร์อย่างมาก จนพวกเขาคิดว่าสัญชาตญาณบางอย่างน่าจะผลักดันให้สตรีมีบุตรมากพอที่จะดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ดูเหมือนจะเป็นตรงกันข้าม เพราะอัตราการเกิดลดลงต่ำกว่าระดับทดแทน เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1990 อัตรา การเกิดในยุโรปก็ลดลงเหลือ 1.4 การสิ้นสุดยุคเบบี้บูมอาจส่งผลกระทบสำคัญสองประการต่อเศรษฐกิจของประเทศ ประการแรกคือสิ่งที่เรียกว่า “การปันผลทางประชากร” (demographic dividend) หรือภาวะวันชื่นคืนสุขที่กินเวลาไม่กี่สิบปี เนื่องจากคนที่เกิดในยุคนี้ ทำให้แรงงานของประเทศขยายตัว ขณะที่กลุ่มประชากรซึ่งไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเด็กและผู้สูงอายุ มีค่อนข้างน้อย ประเทศจึงมีเงินเหลือเฟือสำหรับใช้กิจการด้านอื่นๆ จากนั้น ผลกระทบประการที่สองก็ตามมา เมื่อคนในยุคเบบี้บูมเริ่มเกษียณ สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นเสถียรภาพอันยั่งยืนทางประชากรกลับกลายเป็นงานเลี้ยงที่กำลังเลิกรา การอภิปรายเรื่องประกันสังคมอย่างเผ็ดร้อนในสหรัฐฯและการนัดหยุดงานเมื่อปีที่แล้วในฝรั่งเศสเพื่อประท้วงการยืดอายุวัยเกษียณออกไป เป็นการตอบสนองต่อปัญหาที่พบได้ทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้ว นั่นคือจะดูแลประชากรสูงอายุอย่างไร ในประเทศอุตสาหกรรม กว่าอัตราการเกิดจะลดลงถึงระดับทดแทนหรือต่ำกว่าต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน แต่ในประเทศอื่นๆทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเร็วกว่ามากจนนักประชากรศาสตร์พากันแปลกใจ เช่นในจีนซึ่งเป็นบ้านของประชากรถึงหนึ่งในห้าของโลก แม้จำนวนประชากรยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเกิดก็ยังต่ำกว่าระดับทดแทน และเป็นเช่นนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้เมื่อปี 1979 สตรีชาวจีนซึ่งมีบุตรเฉลี่ยหกคนย้อนหลังไปเพียงแค่ปี 1965 ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 1.5 คน ขณะที่ในอิหร่านอัตราการเกิดลดลงกว่าร้อยละ 70 มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลอิสลามอิหร่าน ส่วนบราซิลซึ่งเป็นประเทศคาทอลิกและปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อัตราการเกิดลดลงครึ่งหนึ่งในช่วง 25 ปีนี้เช่นกัน ทว่าในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา อัตราการเกิดยังคงสูงถึงห้าคนต่อแม่หนึ่งคน (ที่ประเทศไนเจอร์อัตราการเกิดพุ่งขึ้นไปถึงเจ็ดคน) แต่ขณะเดียวกัน ในภูมิภาคแถบนี้มีอยู่ถึง 17ประเทศที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรอยู่ที่ 50 ปีหรือน้อยกว่า และเพิ่งจะเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนสภาพทางประชากร อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกครอบครัว ก็มีขนาดเล็กลงมาก องค์การสหประชาชาติคาดว่าโลกจะมีอัตราการเกิดถึงระดับทดแทนภายในปี 2030 แต่ข่าวร้ายก็คือกว่าจะถึงปี 2030 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรในช่วงวัยรุ่นซึ่งปัจจุบันมีมากที่สุดในประวัติศาสตร์จะเข้าสู่วัยมีบุตร แม้สตรีคนหนึ่งจะมีบุตรเพียงสองคน ประชากรก็จะยังเพิ่มอย่างรวดเร็วตามแรงขับเคลื่อนไปอีก 25 ปี คำถามก็คือ เมื่อถึงตอนนั้นเราจะอยู่อย่างเห็นอกเห็นใจกันและไม่ทำลายสภาพแวดล้อมได้หรือไม่ แน่นอนว่าจำนวนประชากรเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือวิธีการบริโภคทรัพยากรของผู้คน ความท้าทาย อันใหญ่หลวงสำหรับอนาคตของเราและโลกก็คือ ทำอย่างไรจึงจะดึงคนให้พ้นจากความยากจนได้มากขึ้น อย่างชาวสลัม ในกรุงนิวเดลี และชาวไร่ชาวนาที่ประทังชีวิตไปวันๆในรวันดา พร้อมไปกับการลดผลกระทบของเราแต่ละคนที่มีต่อโลกใบนี้ด้วย ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 ประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ชนชั้นกลางระดับโลก” (global middle class) ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก400 ล้านคนเมื่อปี 2005 นี่ถือเป็นเรื่องดี แต่อาจกลายเป็นภาระหนักหนาสาหัสสำหรับโลก ถ้าคนเหล่านั้นพากันรับประทานเนื้อสัตว์และขับรถซดน้ำมันอย่างที่ชาวอเมริกันทำในปัจจุบัน แม้อาจสายเกินไปแล้วที่จะห้ามชนชั้นกลางรุ่นใหม่ในปี 2030 ให้ลืมตาดูโลก แต่ยังไม่สายที่จะเปลี่ยนวิธีการที่พวกเขาและพวกเราทุกคนผลิตและบริโภคอาหารและพลังงาน นักประชากรศาสตร์ที่มองโลกในแง่ร้ายออกมาเตือนพวกที่มองโลกในแง่ดีถึงเรื่องวันสิ้นโลกมาหลายศตวรรษแล้ว แต่พวกหลังกลับมั่นใจว่ามนุษยชาติจะหาทางรับมือกับเรื่องนี้ได้และอาจปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าจะกล่าวโดยรวมแล้ว คงต้องยอมรับว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาดูจะเข้าข้างพวกมองโลกในแง่ดีเสียด้วย แต่ประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่เครื่องชี้ชะตาอนาคต วิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน เราจึงไม่สามารถทำนายผลแพ้ชนะของการเดิมพันระหว่างมนุษย์กับดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ ทั้งนี้เพราะข้อเท็จจริงทั้งหมดของปัญหาที่ว่าถึงตอนนั้นจะมีพลโลกเท่าไรและจะอยู่กันอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแนวทางที่เราทุกคนต้องเลือกและมีส่วนรับผิดชอบ
มาดูอนาคตประชากรของไทยบ้างครับ
ประชากรไทยในอนาคต
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ 1
ปราโมทย์ ประสาทกุล 2 |
บทความนี้จะ ได้กล่าวถึงภาพของประชากรไทยในอนาคตว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ลักษณะประชากรไทยในอนาคตได้จากการฉายภาพประชากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ต่อไปอีก 30 ปี ข้างหน้าจนถึงปี พ.ศ. 2578 ดำเนินการโดยคณะทำงานฉายภาพประชากร ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล |
ทำความเข้าใจกับการฉายภาพประชากรชุดใหม่
การฉายภาพประชากรคือการคาดประมาณประชากรในอนาคต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มีคณะทำงานฉายภาพประชากร ซึ่งทำหน้าที่คาดประมาณประชากรของประเทศไทย พิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็นระยะ ๆ ปรับแก้การคาดประมาณนั้นเมื่อมี่ข้อมูลใหม่ รวมทั้งคำนวณหาดัชนีตัวชี้วัดที่แสดงสถานการณ์ด้านประชากรเป็นประจำปี
การฉายภาพประชากรชุดใหม่นี้ คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้เริ่มต้นจาก “ประชากรฐาน” คือ ประชากรปี พ.ศ. 2548 ซึ่งปรับจำนวนรวมตามข้อมูลจากทะเบียนราษฎรล่าสุด และปรับโครงสร้างอายุตามผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากรรอบแรกในปี พ.ศ. 2548 จากนั้นได้ใช้ “วิธีคาดประมาณประชากรตามโคฮอท (รุ่นอายุ) ที่เปลี่ยนไปตามองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงประชากร” (Cohort – component method) หลักการของวิธีนี้ คือ จำนวนประชากรแต่ละรุ่นอายุจะเปลี่ยนไปแต่ละปีตามองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงประชากร 3 ด้าน อันได้แก่ การเกิด การตาย และการย้ายถิ่น เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละปี ประชากรแต่ละรุ่นอายุจะลดลงไปเพราะมีการตาย และเพิ่มขึ้นเพราะมีการเกิด นอกจากนั้นหากมีการย้ายเข้า ประชากรจะเพิ่มขึ้น และหากมีการย้ายออก ประชากรก็จะลดลง ดังนั้น การฉายภาพประชากรจึงอาศัยการตั้งข้อสมมุติว่าต่อไปในอนาคตนั้น การเกิด การตาย และการย้ายถิ่นแต่ละปีควรเป็นเท่าไร
ในการฉายภาพประชากร คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้ตั้งข้อสมมุติว่าในอนาคต การเกิดหรือภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีไทยจะยังคงลดลงไปอีก โดยที่จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของตนจะลดจาก 1.65 คนในปี พ.ศ. 2548 เป็น 1.45 คน ในปี พ.ศ. 2568 และกลุ่มสตรีที่ให้กำเนิดบุตรสูงสุด (อัตราเกิดรายอายุ) ค่อย ๆ เปลี่ยนจากกลุ่มอายุ 20 – 24 ปีในปี พ.ศ. 2548 เป็นกลุ่มอายุ 25 – 29 ปี ในปี พ.ศ. 2568 และเมื่อหลังจากปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป ได้ตั้งข้อสมมุติว่าภาวะเจริญพันธุ์ทั้งจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่สตรีคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์และอัตราเกิดรายอายุคงที่
ในเรื่องการตาย คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้ตั้งข้อสมมุติว่าความยืนยาวชีวิตของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นไปอีก เริ่มจากในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีฐาน อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของผู้ชายเท่ากับ 68 ปี และของผู้หญิงเท่ากับ 75 ปี ได้มีข้อสมมุติว่าอายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นเป็แนวโน้มเส้นตรง ในระยะยาวอีก 50 ปีข้างหน้าอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของผู้ชายจะเพิ่มเป็น 75 ปี ส่วนผู้หญิงจะเพิ่มเป็น 80 ปี
สำหรับองค์ประกอบสุดท้ายคือการย้ายถิ่นนั้น คณะทำงานฉายภาพประชากรฯ ได้สมมุติให้การย้ายถิ่นระหว่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายของประชากรไทยมีน้อยมากจนไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนและโครงสร้างประชากรมากนัก หมายความว่าการฉายภาพประชากรชุดนี้มิได้รวมการย้ายถิ่นของแรงงานที่เข้าหรือออกจากประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย |
การเพิ่มขึ้นของประชากรไทยช้าลงแต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มเร็วขึ้น
เมื่อกลางปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีฐานของการฉายภาพ ประเทศไทยมีประชากร 62.2 ล้านคน หนึ่งปีถัดไปประมาณได้ว่าประชากรไทย ณ กลางปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 62.5 ล้านคน เท่ากับว่าหนึ่งปีมีคนเพิ่มขึ้น 3 แสนคนเศษ คิดเป็นอัตราเพิ่มประชากรร้อยละ 0.6 ต่อปี การเพิ่มของประชากรไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต แต่เป็นการเพิ่มที่ช้าลง แต่ละปีอัตราเพิ่มประชากรค่อย ๆ ลดลง ๆ ในปี พ.ศ. 2565 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ประชากรไทยถึงจุดอิ่มตัว อัตราเกิดจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราตาย ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรใกล้เคียงกับศูนย์ จำนวนเกิดในแต่ละปีพอ ๆ กับจำนวนตาย จากการฉายภาพประชากรชุดนี้แสดงว่าประชากรไทยจะถึงจุดอิ่มตัวที่จำนวนประมาณ 65 ล้านคนในราวปี พ.ศ. 2565 หลังจากนั้น เป็นไปได้ว่าอัตราเพิ่มประชากรจะติดลบคือต่ำกว่าศูนย์บ้างเล็กน้อย ทำให้จำนวนประชากรแต่ละปีลดลง |
รูป 1 อัตราเพิ่มและจำนวนประชากร, พ.ศ. 2548 – 2578 |
การที่ประชากรไทยในอนาคตเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนอิ่มตัวแล้วลดลงนั้น เป็นผลเนื่องมาจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลงและคนไทยมีชีวิตยืนยาวขึ้นอีก ลักษณะเช่นนี้ทำให้โครงสร้างอายุของประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน หากดูที่จำนวนประชากร เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2578 จะมีจำนวนลดลงจาก 14 ล้าน (ร้อยละ 23 ของประชากรทั้งหมด) เหลือ 9 ล้านคนเศษ (ร้อยละ 14) ส่วนประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) นั้นมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย กล่าวคือในช่วง พ.ศ. 2548 – 2558 จำนวนจะเพิ่มขึ้นจาก 41 ล้าน เป็น 43 ล้านคน หลังจากนั้นจะลดจำนวนลงเหลือ 38 ล้านคนในปี พ.ศ. 2578 อาจกล่าวได้ว่าจำนวนประชากรวัยแรงงานในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าเกือบไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม การที่จำนวนประชากรวัยเด็กจะลดลงอย่างมากจะมีผลทำให้จำนวนประชากรในวัยเรียน (อายุ 6 – 21 ปี) ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 16 ล้านคนในปี พ.ศ. 2548 เป็น 11 ล้านคนในปี พ.ศ. 2578
สำหรับประชากรกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) คนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2548 มีประชากรสูงอายุอยู่ 6 ล้านคนเศษ (ร้อยละ 10) เมื่อถึงปี พ.ศ. 2578 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน (ร้อยละ 25) เท่ากับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในเวลาราว ๆ 30 ปีเท่านั้น |
รูป 2 จำนวนประชากรวัยต่าง ๆ พ.ศ. 2548 – 2578 |
สังคมไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่มีผลต่อสังคมไทยอย่างมากนั่นคือ การมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากจำนวนเด็กที่ลดลงในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า จำนวนเด็กจะพอ ๆ กับผู้สูงอายุ และหลังจากนั้นจะเกิดปรากฏการณ์มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก
เราอาจใช้ “ดัชนีผู้สูงอายุ” (Ageing index) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างจำนวนเด็กกับผู้สูงอายุ ดัชนีผู้สูงอายุ เป็นอัตราส่วนของจำนวนประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ต่อจำนวนประชากรวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) 100 คน ตามความหมายนี้ ดัชนีผู้สูงอายุแสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงอายุกี่คนต่อเด็ก 100 คน ถ้าดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงว่ามีเด็กมากกว่าผู้สูงอายุ และในทางกลับกัน ถ้าดัชนีมีค่าสูงกว่า 100 ก็แสดงว่ามีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก |
ตาราง 1 ดัชนีผู้สูงอายุของประเทศไทย พ.ศ. 2548 – 2578 |
ตาราง 1 แสดงแนวโน้มของดัชนีผู้สูงอายุ หรืออัตราส่วนผู้สูงอายุต่อเด็ก 100 คน “ดัชนีผู้สูงอายุ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ความจริงแนวโน้มเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเร็ว ๆ นี้ หากแต่เกิดมานานแล้ว เช่น ในปี พ.ศ. 2503 และ 2513 มีผู้สูงอายุเพียง 11 คนต่อเด็ก 100 คน เมื่อถึงปี พ.ศ. 2548 จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดัชนีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 45 อีก 5 ปีถัดไป ผู้สูงอายุมีจำนวนเกินกว่าครึ่งของจำนวนเด็กแล้ว ดัชนีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2553 และ 2553 – 2558 นั้น คือประมาณเกือบร้อยละ 6 ต่อปี แต่ในช่วง พ.ศ. 2558 – 2563 ดัชนีผู้สูงอายุยิ่งเพิ่มเร็วมาก คือสูงถึงร้อยละ 7 ต่อปี หลังจากช่วงนี้ไปแล้ว อัตราเพิ่มของดัชนีผู้สูงอายุลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 – 5 ต่อปี
ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2564 เป็นช่วงเวลาที่ดัชนีผู้สูงอายุเท่ากับ 100 หมายความว่าช่วงเวลานี้ประเทศไทยมีประชากรวัยเด็กเท่า ๆ กับผู้สูงอายุ หลังจากปี พ.ศ. 2564 ไปแล้วประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กต่อไปเรื่อย ๆ ปรากฏการณ์ที่มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กเช่นนี้จะไม่สามารถย้อนกลับได้อีกเลย ดังเช่นเหตุการณ์ที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายประสบมาก่อนหน้าประเทศไทย |
รูปแบบการพึ่งพิงเปลี่ยนไป
โครงสร้างประชากรสะท้อนให้เห็นลักษณะการพึ่งพิงกันระหว่างประชากรกลุ่มอายุต่าง ๆ เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ลักษณะการพึ่งพิงกันก็เปลี่ยนไปด้วย การแสดงระดับของการพึ่งพิงระหว่างประชากรกลุ่มอายุต่าง ๆ นิยมใช้ดัชนีที่เรียกว่า “อัตราส่วนพึ่งพิง” (Dependency ratio) เป็นตัวชี้วัด
“อัตราส่วนพึ่งพิง” คืออัตราส่วนระหว่างประชากรเด็กและประชากรสูงอายุต่อประชากรวัยทำงาน ในการคำนวณอัตราส่วนนี้ ประชากรวัยเด็กคือประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ประชากรสูงอายุคือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชากรวัยทำงานคืออายุระหว่าง 15 ถึง 59 ปี ดัชนีนี้มีข้อสมมุติว่าประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุต้องพึ่งพิง (ทางเศรษฐกิจ) ประชากรวัยทำงาน
อัตราส่วนพึ่งพิงตามความหมายข้างต้นนั้นเป็น “อัตราส่วนพึ่งพิงรวม” (Total dependency ratio) คือรวมผู้พึ่งพิงทั้งที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ อัตราส่วนพึ่งพิงยังสามารถจำแนกตามประเภทของผู้ที่ต้องพึ่งพิงเป็น 2 ประเภท คือ อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก (Youth dependency ratio) และอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา (Old-age dependency ratio) อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กเป็นจำนวนเด็กต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 100 คน ส่วนอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรานั้น เป็นจำนวนผู้สูงอายุต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 100 คนเช่นกัน ค่าของอัตราส่วนพึ่งพิงทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งสูงย่อมแสดงถึงมีจำนวนผู้ที่ต้องพึ่งพิงมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ทำงานนั่นเอง
ในอดีต ประเทศไทยเคยประสบกับสถานการณ์ที่มีเด็กจำนวนมากเมื่อเทียบกับประชากรวัยทำงาน เช่น จากสำมะโนประชากรปีต่าง ๆ พบว่า ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงรวมเท่ากับ 85 หมายความว่า มีผู้ต้องพึ่งพิง (เด็กและผู้สูงอายุ) 85 คนต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน (วัยแรงงาน) 100 คน จากนั้นค่าอัตราส่วนพึ่งพิงได้เพิ่มเป็น 93 ต่อ 100 ในปี พ.ศ. 2513 อัตราส่วนพึ่งพิงรวมที่สูงเนื่องจากคนไทยในช่วงเวลานั้นยังมีลูกมากทำให้มีประชากรวัยเด็กมาก ต่อมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดอัตราเกิด ทำให้มีเด็กเกิดน้อยลง ส่งผลให้ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงที่เคยสูงเกือบ 100 นั้นลดต่ำลง ดังเช่น ในปี พ.ศ. 2543 ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงรวมได้ลดลงเหลือ 51 และจะลดลงไปอีกจนเหลือ 48 ในปี พ.ศ. 2553 หลังจากนั้นคาดว่าอัตราส่วนพึ่งพิงรวมจะกลับสูงขึ้นอีกจนถึง 65 ในปี พ.ศ. 2578
การที่ค่าอัตราส่วนพึ่งพิงกลับเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 40 ปีเป็นเพราะจำนวนประชากรสูงอายุได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาแยกระหว่างอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กและวัยชราแล้ว ก็จะพบว่าอัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็กได้ลดลงอย่างมากและต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึง พ.ศ. 2578 ในขณะที่อัตราส่วนพึ่งพิงวัยชราได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าแนวโน้มรูปแบบการพึ่งพิงจะเปลี่ยนจากการพึ่งพิงของเด็กเป็นส่วนใหญ่ มาสู่การพึ่งพิงของผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ (ตาราง 2) |
ตาราง 2 อัตราส่วนพึ่งพิงรวม อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก และอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา พ.ศ. 2503 – 2578 หมายเหตุ: อัตราส่วนพึ่งพิงของปี พ.ศ. 2503 – 2543 คำนวณจากสำมะโนประชากร และของปี พ.ศ. 2548 – 2578 คำนวณจากการฉายภาพประชากร |
ดัชนีอีกตัวหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงอัตราส่วนของจำนวนคนในวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) ต่อผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 1 คน ได้แก่ “อัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุ” (Potential support ratio: PSR) แนวความคิดของอัตราส่วนนี้คือ คนในวัยทำงานเป็นผู้ที่มีศักยภาพที่จะดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุ จึงมีความหมายว่าผู้สูงอายุคนหนึ่งจะมีผู้ที่สามารถช่วยเหลือดูแลสักกี่คน
เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในปี พ.ศ. 2503 อัตราส่วนเกื้อหนุนผู้สูงอายุสูงมาก มีคนวัยทำงานถึง 12 คนที่ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุเพียง 1 คน อัตราส่วนนี้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และในอีก 30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุไทยแต่ละคนจะมีคนวัยทำงานที่อาจจะช่วยในการดูแลค้ำจุนเพียง 2 คนเท่านั้น |
รูป 3 อัตราส่วนค้ำจุนผู้สูงอายุของประเทศไทย พ.ศ. 2503 – 2578 |
สรุป
ประชากรไทยในอนาคตเพิ่มช้าลงไปเรื่อย ๆ อีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า อัตราเพิ่มของประชากรไทยจะใกล้เคียงกับศูนย์ และอาจเป็นไปได้ว่าอัตราเพิ่มประชากรลดลงไปจนต่ำกว่าศูนย์หรือติดลบ จำนวนประชากรไทยใกล้จะถึงจุดคงตัวแล้ว เมื่ออัตราเพิ่มประชากรใกล้เคียงกับศูนย์ ประชากรก็จะมีจำนวนคงตัวที่ประมาณ 65 ล้านคน ในแต่ละปี ประชากรไทยจะไม่เพิ่มหรือลดไปจากจำนวนนี้มากนัก ประชากรไทยมีจำนวนคงตัวในระยะเวลาอีกเพียงประมาณ 15 ปีเท่านั้น
ในขณะที่จำนวนประชากรไทยกำลังเพิ่มช้าลงนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากรอย่างใหญ่หลวง เมื่ออัตราเกิดลดต่ำลงอย่างมากและผู้คนมีอายุยืนยาวนั้น สังคมไทยจึงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด แต่ในอีก 30 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน เมื่อถึงเวลานั้น ประชากรสูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเด็กเสียอีก
สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้ลักษณะการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างประชากรวัยต่าง ๆ เปลี่ยนไป เดิมมีประชากรวัยเด็ที่ต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานมากกว่าผู้สูงอายุ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานมากกว่าเด็ก อัตราส่วนระหว่างประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุจะลดลงจนเหลือเพียง 2 ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในอีก 30 ปีข้างหน้า
การเปลี่ยนแปลงประชากรไทยในอนาคตได้ก่อให้เกิดนัยยะเชิงนโยบายหลายประการ
(1) การที่เด็กเกิดใหม่แต่ละปีมีแนวโน้มลดน้อยลงในอนาคตจะทำให้รัฐไม่ต้องกังวลเรื่องปริมาณและสามารถมุ่งเน้นที่คุณภาพของเด็กเกิดใหม่ โดยเฉพาะงานอนามัยแม่และเด็กได้มากยิ่งขึ้น
(2) เช่นเดียวกับประชากรเด็ก ประชากรในวัยศึกษาเล่าเรียนมีแนวโน้มลดลง รัฐจะสามารถเน้นคุณภาพของการศึกษาได้ดีขึ้น
(3) แม้จำนวนประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มที่จะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในอนาคต แต่ความต้องการแรงงานในระบบเศรษฐกิจของประเทศอาจมีเพิ่มขึ้น “การนำเข้า”แรงงานจากต่างประเทศอาจเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการจัดการแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
(4) ประชากรยิ่งมีอายุมากยิ่งเพิ่มเร็ว สังคมไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ มาตรการและโครงการที่จะเป็นสวัสดิการให้ประชากรสูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไป หรือเรื่องสุขภาพอนามัย ควรที่จะได้เริ่มกันตั้งแต่วันนี้ และจะต้องพัฒนาไปให้ทันกับการเพิ่มอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุในอนาคต |
เอกสารอ้างอิง
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม. 2549. การฉายภาพประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2548 – 2568, มหาวิทยาลัยมหิดล. |
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. มปป. สำมะโนประชากร พ.ศ. 2503. |
_____. มปป. สำมะโนประชากร พ.ศ. 2513. |
_____. มปป. สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2523. |
_____. มปป. สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2533. |
_____. 2545. สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2543. |
1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
2 ศาสตราจารย์ ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล |
ครับ เราก็พอได้ทราบแนวโน้มของโลกของเราด้านประชากรแล้วนะครับ ทั้งในโลกที่สถิติบ่งชี้ว่าจะมาเพิ่มมากแถบทวีปที่เราอยู่อาศัยนี้ รวมทั้งแนวโน้มในประเทศไทยด้วย พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น